Translate

วันศุกร์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2564

Vietnam War


 

 




 






          สงครามเวียดนาม(Vietnam War)


สงครามเวียดนาม (เวียดนาม: Chiến tranh Việt Nam) หรืออีกชื่อหนึ่งว่า สงครามอินโดจีนครั้งที่สอง และในเวียดนามเรียก สงครามต่อต้านอเมริกา (เวียดนาม: Kháng chiến chống Mỹ)
สงครามเวียดนาม เป็นความขัดแย้งที่ยาวนาน และมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก

สงครามเป็นการต่อสู้ระหว่างเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้อย่างเป็นทางการ เวียดนามเหนือได้รับการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียต จีน และประเทศพันธมิตรฝ่ายลัทธิคอมมิวนิสต์อื่น เวียดนามใต้ได้รับการสนับสนุนโดยสหรัฐ เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย ไทย และประเทศพันธมิตรฝ่ายต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์อื่นๆ จะเรียกสงครามนี้ว่าเป็นสงครามตัวแทนในยุคสงครามเย็น ระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตก็ได้ ตลอดระยะเวลาที่สงครามดำเนินไป ซึ่งกินระยะเวลายาวนานถึง 19 ปี มีผู้เสียชีวิตในสงครามเวียดนามมากกว่า 3 ล้านคน (รวมถึงชาวอเมริกันกว่า 58,000 คน) และมากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้เสียชีวิตเป็นพลเรือนเวียดนาม




 


 
มีประท้วงต่อต้านการร่วมสงครามเวียดนามในสหรัฐมีผู้ชุมนุมประท้วง 100,000 คน ส่วนใหญ่เป็นแม่ๆของทหารที่ไปรบที่เวียดนาม แต่รัฐบาลยังคงเพิกเฉยต่อการเรียกร้อง หากแต่ว่าเสียงคัดค้านสงครามเวียดนามของคนอเมริกันเริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ เมื่อจำนวนทหารอเมริกันที่ได้รับบาดเจ็บ, สูญเสียอวัยวะ และเสียชีวิต มีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงงบประมาณจำนวนมหาศาลจากภาษีของชาวอเมริกันที่ใช้ในสงครามนี้

ภายหลังประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสันได้สั่งถอนกองกำลังสหรัฐออกจากเวียดนามในปี 1973 ทำให้กองกำลังคอมมิวนิสต์ เข้ายึดอำนาจการปกครองของเวียดนามใต้ในปี 1975 และรวมประเทศเป็นหนึ่งเดียวในฐานะสาธารณรัฐสังคมนิยม เวียดนามในปีต่อไป.


 





รากเหง้าของสงครามเวียดนาม

เวียดนามซึ่งเป็นชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่อยู่ทางด้านตะวันออกของคาบสมุทรอินโดจีน จากการค้นพบหลักฐานทางโบราณคดี ทำให้ทราบว่าเวียดนาม มีคน 3 เชื้อชาติที่อพยพมาตั้งถิ่นฐาน ณ ดินแดนแห่งนี้ ลักษณะทางภูมิศาสตร์เวียดนามตั้งอยู่ระหว่างสามเหลี่ยมปากแม่น้ำขนาดใหญ่2สามเหลี่ยม คือ สามเหลี่ยมปากแม่น้ำแดงทางเหนือ และสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงทางใต้ ชนชาติชาวเวียดนามตั้งถิ่นฐารอยู่ทางเหนือ(ของประเทศเวียดนามในปัจจุบัน) ชาวจาม หรือจามปา มีถิ่นฐานอยู่ทั่วชายฝั่งภาคกลาง และชาวกัมพูชาจะมีถิ่นฐานอยู่ทางในในบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ภายหลังประเทศเวียดนามตกอยู่ภายใต้การปกครองของอาณานิคมฝรั่งเศสในช่วงศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา

 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กองกำลังญี่ปุ่นบุกเวียดนาม เพื่อต่อสู้กับผู้ยึดครองของญี่ปุ่นและการปกครองอาณานิคมของฝรั่งเศส ผู้นำทางการเมือง "โฮจิมินห์" ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากคอมมิวนิสต์จีนและโซเวียตได้ก่อตั้งเวียดมินห์หรือสันนิบาตเพื่อเอกราชของเวียดนาม

 ในปี 1945 เมื่อญี่ปุ่นขับไล่อิทธิพลของฝรั่งเศสไปแล้ว เวียดนามก็ประกาศเอกราชจากฝรั่งเศส สถาปนาจักรวรรดิเวียดนามภายใต้วงไพบูลย์ร่วมแห่งมหาเอเชียบูรพาของญี่ปุ่น มีรายงานว่าญี่ปุ่นไม่ค่อยพอใจท่าทีของจักรพรรดิบ๋าว ดั่ย(Bảo Đại) เท่าไร จึงวางแผนการที่จะเชิญเจ้าชายคง เต๋อ (Cuong de) พระญาติที่เป็นพวกฝักไฝ่ญี่ปุ่นขึ้นครองราชย์แทน ดังนั้นในหมู่ชนชั้นนำญี่ปุ่นจึงวางแผนปลงพระชนม์จักรพรรดิบ๋าว ดั่ย เพื่อไม่ให้รัฐหุ่นเชิดอย่างเวียดนามต้องหลุดลอยไป แต่ญี่ปุ่นกลับพ่ายแพ้ต่อสัมพันธมิตรในปีเดียวกันนั้นเอง โฮจิมินห์และกลุ่มเวียดมินห์ได้ใช้เหตุการณ์นี้และเหตุการณ์ทุพภิกขภัยในเวียดนามปี 1945 เข้ายึดอำนาจ โฮจิมินห์ทูลให้จักรพรรดิบ๋าว ดั๋ยสละราชบัลลังก์ และทูลขอให้พระองค์ยอมถ่ายโอนอำนาจมาให้รัฐบาลเวียดมินห์ โฮจิมินห์แต่งตั้งให้จักรพรรดิบ๋าว ดั่ยดำรงเป็นที่ปรึกษาสูงสุดของรัฐคอมมิวนิสต์ใหม่นี้ โดยเวียดมินห์รบชนะฝรั่งเศสที่พยายามกลับเข้ามาใหม่อีก
.
ในปี 1947 ในช่วงที่จักรพรรดิบ๋าว ดั่ยทรงเป็นที่ปรึกษาแห่งรัฐให้โฮจิมินห์ จักรพรรดินีนามเฟืองได้เสด็จลี้ภัยออกจากเวียดนาม พร้อมพระโอรสธิดา รวมถึงมกุฎราชกุมารบ๋าว ล็อง ด้วย เนื่องจากเป็นที่รู้กันดีว่า จักรพรรดินีนามเฟืองทรงเป็นผู้สนับสนุนอิทธิพลของฝรั่งเศส ซึ่งกำลังเป็นศัตรูของรัฐบาลเวียดมินห์ในขณะนั้น พระนางเสด็จไปประทับที่ฝรั่งเศสใกล้เมืองคานส์





 

สงครามเวียดนามเริ่มเมื่อใด(When Did the Vietnam War Start?)

สงครามเวียดนามและการมีส่วนร่วมของสหรัฐฯในสงครามเริ่มขึ้นในปี 1954 แม้ว่าความขัดแย้งในภูมิภาคนี้จะยืดเยื้อไปหลายทศวรรษ

 หลังจากกองกำลังคอมมิวนิสต์ของโฮจิมินห์เข้ายึดอำนาจทางตอนเหนือความขัดแย้งทางอาวุธระหว่างกองทัพทางเหนือและทางใต้ยังคงดำเนินต่อไปจนกระทั่งการแตกหักของเวียดมินห์ทางเหนือในการรบที่เดียนเบียนฟูในเดือนพฤษภาคม 1954 (Battle of Dien Bien Phu) การต่อสู้จบลงด้วยความพ่ายแพ้ของทหารฝรั่งเศส ถือเป็นการสิ้นสุดการปกครองอาณานิคมในอินโดจีนของฝรั่งเศส นับเป็นเวลาเกือบหนึ่งศตวรรษที่ฝรั่งเศส การปกครองอาณานิคมในอินโดจีน



 


 เวียดมินท์ลุกคืบต้องการที่จะรวมประเทศ ยังผลให้เกิดการสู้รบกันอย่างหนักระหว่างเวียดนามเหนือ-เวียดนามใต้
ต่อมาเดือนกรกฎาคม 1954 มีการลงนามในสนธิสัญญา การประชุมที่เจนีวา(Geneva Agreement) ได้แยกเวียดนามออกไปตามละติจูดที่เรียกว่าเส้นขนานที่ 17 (ละติจูด 17 องศาเหนือ)
เวียดนามเหนือปกครองโดยโฮจิมินห์ ส่วนเวียดนามใต้ปกครองโดยกษัตริย์ เบ๋า ดั่ย และโงดินห์เดียม เป็นนายกรัฐมนตรี
 ในช่วงสงครามเวียดนาม ปีค.ศ. 1955 กษัตริย์เบ๋า ดั่ย ต้องสละอำนาจ และให้โงดินห์เดียมได้เป็นประธานาธิบดีแทน
   ช่วงนี้อเมริกาได้เข้ามาหนุนหลังเวียดนามใต้ ทางด้านเวียดนามเหนือซึ่งกลายเป็นคอมมิวนิสต์เต็มตัวมีจีนและสหภาพโซเวียตหนุนหลัง


 ในช่วงปีค.ศ. 1963-1967 ทางเวียดนามใต้มีปัญหาทางการเมืองทำให้เวียดนามเหนือเข้ามายึดเวียดนามใต้

อเมริกาซึ่งเป็นฝ่ายประชาธิปไตยกลัวว่าเวียดนามเหนือที่เป็นคอมมิวนิสต์จะเข้ามายึดด้วยน้ำใต้ จึงส่งกองกำลังเข้ามาหนุนฝ่ายเวียดนามใต้อย่างเต็มที่ ทำให้เกิดการสู้รบเป็นสงครามเวียดนามในที่สุดเวียดนามเหนือก็ยึดกรุงไซ่ง่อนได้(และเปลี่ยนชื่อเป็นโฮจิมินห์ซิตี้) ในวันที่ 30 เมษายน 1975 เป็นการรวมประเทศและปกครองด้วยระบบคอมมิวนิสต์ภายใต้พรรคคอมมิวนิสต์มาจนถึงทุกวันนี้ และเปลี่ยนชื่อมาเป็นสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามมีเมืองหลวงตั้งอยู่ที่กรุงฮานอย



  
เวียดกง(The Viet Cong)


เวียดกง (Viet Cong) มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า แนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติเวียดนามใต้ ( Mặt trận Dân tộc Giải phóng miền Nam Việt Nam) เป็นกลุ่มแนวร่วมพรรคคอมมิวนิสต์ที่อยู่ในเขตเวียดนามใต้ ซึ่งก่อตั้งขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต้านรัฐบาลเผด็จการเวียดนามใต้ และรวมดินแดนเวียดนามให้เป็นหนึ่งเดียวภายใต้การปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายคอมมิวนิสต์ในเวียดนามเหนืออีกที

ภายหลังจากการลงนามในสนธิสัญญาเจนีวาในปี 1954 ซึ่งส่งผลทำให้เวียดนามถูกแบ่งเป็น 2 ประเทศ คือเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้ กลุ่มกองทัพประชาชนเวียดนาม หรือเวียดมินห์ (Viet Minh) ซึ่งนำโดยโฮจิมินห์ ได้นำกำลังส่วนใหญ่ไปยังเวียดนามเหนือ อย่างไรก็ตาม ก็มีสมาชิกราว 5 พันถึง 1 หมื่นคน ที่ปฏิเสธจะข้ามพรมแดนขึ้นเหนือ และยังคงปักหลักอยู่ต่อไปในเขตเวียดนามใต้ ต่อมาเมื่อโงดินห์เดียม เริ่มปราบปรามกลุ่มอื่น ๆ ในประเทศและเริ่มจัดการกับกลุ่มคอมมิวนิสต์อย่างจริงจัง ก็ทำให้บรรดากลุ่มสมาชิกเวียดมินห์ที่ยังอยู่ในเวียดนามใต้ได้รวมตัวกันก่อตั้งแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติเวียดนามใต้ หรือเวียดกง เพื่อดำเนินการต่อต้านรัฐบาลเวียดนามใต้อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 1960

การปฏิบัติการของกลุ่มเวียดกงจะมุ่งเน้นในการก่อการร้ายและการจลาจล โดยมีเวียดนามเหนือให้การสนับสนุนทางด้านอาวุธรวมถึงการฝึกกำลังพล ซึ่งจะว่าไปแล้วนับตั้งแต่ปี 1960 เป็นต้นมา ทหารอเมริกาที่เข้าร่วมในสงครามนั้นส่วนใหญ่ก็ต้องเผชิญหน้ากับพวกเวียดกงในดินแดนเวียดนามใต้นี่เอง มีไม่กี่ครั้งที่จะขึ้นไปปฏิบัติการถึงในเขตเวียดนามเหนือ ซึ่งพวกอเมริกันบางครั้งก็เรียกเวียดกงว่า วิกเตอร์ ชาร์ลี (Victor Charlie) ซึ่งย่อเป็น V-C เช่นเดียวกับเวียดกง พวกทหารอเมริกันส่วนใหญ่เกลียดและกลัวพวกเวียดกงมาก เพราะพวกเวียดกงจะใช้กลยุทธการรบแบบกองโจรคอยดักซุ่มโจมตีอย่างฉับพลัน ("เอ็งมาข้ามุด เอ็งหยุดข้าแหย่ เอ็งแย่ข้าตี เอ็งหนีข้าตาม") ด้วยความชำนาญภูมิประเทศในการหลบหนีอย่างไร้ร่องรอย การปราบปรามกลุ่มเวียดกงก็ทำได้ยากมากเช่นเดียวกัน เนื่องจากกลุ่มเวียดกงจะแฝงตัวไปกับชาวบ้านทั่วไปจนดูไม่ออกว่าใครเป็นใคร

จนกระทั่งเมื่อไซ่ง่อนแตกในวันที่ 30 เมษายน 1975 และประเทศเวียดนามใต้ถูกยุบรวมเข้ากับเวียดนามเหนือเป็นเวียดนามเดียว กลุ่มเวียดกงจึงได้ยุบรวมเข้ากับกองทัพประชาชนเวียดนาม เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 1976




 

ทฤษฎีโดมิโน(Domino Theory)

 ย้อนไปยุคสงครามเย็น สหรัฐอเมริกามีความเชื่อในทฤษฎีโดมิโนว่า ถ้าประเทศหนึ่งเป็นคอมมิวนิสต์ ประเทศอื่นที่อยู่ข้างเคียงก็จะกลายเป็นคอม มิวนิสต์ด้วย เพราะฉะนั้น อเมริกาต้องเข้าไปปิดล้อมคอมมิวนิสต์เพื่อไม่ให้เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ จนล้มเป็นแถบๆ เหมือนกับตัวโดมิโนที่ล้มกันไป 
                       มีคำอธิบายว่าด้วยทฤษฎีโดมิโน ในพจนานุกรมการเมืองสมัยใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนี้ ทฤษฎีโดมิโนเป็นเหตุผลเบื้องหลังของการแทรกแซงครั้งประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาในเวียดนาม ในบริบทของสงครามเย็น และนโยบายสกัดกั้น ลัทธิคอมมิวนิสต์สากล ที่อเมริกาหวาดกลัวยิ่ง ความสำคัญทางยุทธ ศาสตร์ของอินโดจีน (กัมพูชา ลาว เวียดนาม) ถูกเปรียบเทียบในเชิงตัวต่อโดมิโน ซึ่งถ้าตัวแรกล้มตัวต่อไปก็จะล้มตาม 
                       ผู้ที่ถือว่าให้กำเนิดทฤษฎีนี้คือ ประธานาธิบดีดไวต์ ดี. ไอเซนฮาว เขากล่าวในการแถลงข่าวในกรุงวอชิงตันเมื่อวันที่ 7 เมษายน ค.ศ.1954 ว่า ถ้าคุณวางแถวโดมิโนขึ้น แล้วล้มตัวแรกได้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นจนถึงตัวสุดท้ายก็คือ มันจะล้มตามกันไปอย่างรวดเร็ว และสรุปว่า ถ้าอินโดจีนล้มเป็นคอมมิวนิสต์ ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เหลือก็จะล้มตามอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะเป็นการสูญเสียที่ประมาณการไม่ได้ของโลกเสรี 
                      ถ้อยแถลงดังกล่าวมีขึ้นในขณะที่กองทัพฝรั่งเศสซึ่งกำลังติดพันการรบกับฝ่ายคอมมิวนิสต์เวียดมินห์ในการรบที่เดียนเบียนฟู ส่อเค้าว่าจะแพ้หากไม่ได้รับการช่วยเหลือทางทหาร และในที่สุดเวียดมินห์ยึดเดียนเบียนฟูได้ในสงคราม อินโดจีนครั้งแรกเมื่อปี 1954 และการประชุมนานาชาติเรื่องอินโดจีน ณ เจนีวา จบลงด้วยข้อตกลงเจนีวาว่าด้วยอินโดจีนในเดือนกรกฎาคม เวียดนามถูกแบ่งในความเป็นจริง โดยภาคเหนืออยู่ใต้การยึดครองของคอมมิวนิสต์ ลาวก็ถูกแบ่งเช่น กัน มีเพียงกัมพูชาที่ยังเป็นเอกภาพและอยู่ใต้การปกครองของรัฐบาลที่ไม่ใช่คอม มิวนิสต์ 
                    การล้มแบบโดมิโนไม่ได้เกิดขึ้นทันที แต่ทฤษฎีนี้ยังคงเป็นส่วนหนึ่งในเหตุ ผลทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาที่ปรากฏในสนธิสัญญาป้องกันร่วมกันใน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือกติกามะนิลา ในเดือนกันยายน 1954 และการก่อตั้งซีโต้เดือนกุมภาพันธ์ 1955 ทฤษฎีโดมิโนส่วนหนึ่งมาจากการตีความในวอชิงตันเรื่องสภาพสงครามเย็นที่เห็นว่าฝ่ายคอมมิวนิสต์ในเวียดนามเป็นตัว แทนของจีนคอมมิวนิสต์ และจีนคอมมิวนิสต์ก็ถูกมองว่าเป็นเครื่องมือการขยาย ตัวของสหภาพโซเวียตในเอเชีย ซึ่งจะต้องสร้างแนวต่อต้าน 
               ในท้ายที่สุดการรวมประเทศเวียดนามด้วยกำลังในเดือนเมษายน 1975 ก็ส่งผลคล้ายแบบโดมิโน คือลาวกลายเป็นคอมมิวนิสต์ในปลายปีนั้น ส่วนกัมพูชา เขมรแดงยึดอำนาจได้ด้วยความช่วยเหลือจากคอมมิวนิสต์เวียดนาม แต่ไม่ยอมเป็นลูกน้องผู้นำในฮานอย นั่นทำให้เกิดการเผชิญหน้ากันต่อมาตราบเท่าที่จีนสนับสนุนเขมรแดงให้ต่อต้านเวียดนาม 
                สิ่งที่คล้ายกับทฤษฎีโดมิโนดูเหมือนว่าได้เกิดขึ้นในทางกลับตาลปัตร ยิ่งกว่านั้น ความสำเร็จของลัทธิคอมมิวนิสต์ในอินโดจีนในปี 1975 ที่เกิดขึ้นไม่นานหลังจากสหรัฐอเมริกาถอนตัวทางทหารออกไป ไม่ได้ส่งผลแบบโดมิโนแก่ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เหลือให้ต้องพ่ายแพ้ต่อการท้าทายของคอมมิวนิสต์ภายในแต่อย่างใด 


 



 


  อ่าวตังเกี๋ย (Gulf of Tonkin )

                         วันที่ 2 สิงหาคม ปี1964 เพื่อเป็นการโต้ตอบต่อความพยายามในการก่อวินาศกรรมของสหรัฐอเมริกาและเวียดนามใต้บริเวณพื้นที่ชายฝั่ง เวียดนามเหนือได้โจมตีเรือรบของสหรัฐ ฯ บริเวณอ่าวตังเกี๋ย การโจมตีครั้งที่ 2 ก็เกิดขึ้นในวันที่ 4 ถึงแม้หวอ เงวียน ย๊าป และผู้นำทางทหารของเวียดนามเหนือ รวมไปถึงรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯคือ โรเบิร์ต เอส แม็คนามาราจะสรุปก่อนหน้านี้ว่าจะไม่มีการโจมตีครั้งที่ 2 ก็ตาม รัฐบาลของจอห์นสันก็ได้ใช้การโจมตีในวันที่ 4 นี้ในการขอมติของรัฐสภาในการให้อำนาจอย่างเต็มที่ต่อประธานาบดี มติซึ่งเป็นที่รู้จักกันว่า"มติอ่าวตังเกี๋ย" ได้ผ่านทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาโดยมีเสียงคัดค้านเพียง 2 เสียง (นั้นคือวุฒิสมาชิกมอร์สจากรัฐโอเรกอนและเกรนนิงจากรัฐอะแลสกา) มตินั้นได้ให้มีการโจมตีทางอากาศอย่างจำกัดเพื่อเป็นการตอบโต้เวียดนามเหนือ

                       ตลอดช่วงฤดูใบไม้ผลิตและช่วงหน้าหนาวของปี 1964 รัฐบาลของจอห์นสันได้ถกเถียงกันถึงกลยุทธ์อันเหมาะสมในเวียดนาม เสนาธิการทหารต้องการขยายสงครามทางอากาศไปถึงเวียดนามเหนืออย่างรวดเร็วในการช่วยให้รัฐบาลของใหม่ของกรุงไซง่อนมีเสถียรภาพ ฝ่ายพลเรือนในเพนตากอนต้องการให้มีการทิ้งระเบิดที่จำกัดพื้นที่และเลือกเป้าเพื่อเป็นการเพิ่มแรงกดดันทีละเล็กทีละน้อย มีเพียงรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศคือจอร์จ บอลล์ที่คัดค้านโดยบอกว่านโยบายของจอห์นสันนั้นเป็นการยั่วยุเกินไปและได้ผลตอบแทนที่ไม่มากนัก ในช่วงต้นปี 1965 พวกเวียดกงได้โจมตีเวียดนามใต้รวมไปถึงฐานทัพของสหรัฐฯที่ประจำอยู่ ดังนั้นจอห์นสันได้สั่งให้มีการทิ้งระเบิดเหนือเวียดนามเหนือซึ่งเป็นปฏิบัติการที่กองทัพได้แนะนำตลอดมา



 

                        การทิ้งระเบิดซึ่งเป็นที่รู้จักกันว่า "ปฏิบัติการสายฟ้าฟาด" (Operation Rolling Thunder) และการนำกองกำลังสหรัฐฯเข้ามาในปี 1965 ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์ต้องประเมินยุทธวิธีในสงครามเสียใหม่ ในช่วงปี 1960 จนไปถึงปลายปี 1964 พรรคเชื่อว่าตนสามารถรบเอาชนะเวียดนามใต้ได้ใน"ช่วงเวลาเพียงสั้นๆ " การพยากรณ์แบบมองโลกในแง่ดีจนเกินไปนี้ตั้งอยู่บนสถานการณ์ของสงครามที่มีพื้นที่จำกัดในเวียดนามใต้และไม่ได้นับการเข้ามาเกี่ยวข้องของกองทัพสหรัฐฯ อย่างไรก็ตามเมื่อพบกับศัตรูคนใหม่ พรรคก็เปลี่ยนเป็นสงครามแบบยืดเยื้อ ความคิดของพวกเขาก็คือต้องทำให้สหรัฐฯติดหล่มในสงครามที่ไม่สามารถเอาชนะการต่อสู้ได้และต้องสร้างเงื่อนไขที่ไม่เอื้อต่อชัยชนะของอเมริกา พรรคคอมมิวนิสต์เชื่อว่าตนจะสามารถเอาชนะในสงครามแบบยืดเยื้อเพราะสหรัฐฯนั้นไม่มีกลยุทธ์ที่ชัดเจน จึงอาจเอือมละอาต่อสงครามและต้องการเจรจาในการสงบศึก ดังนั้นการพยากรณ์ที่สอดคล้องกับความเป็นจริงของกรุงฮานอยในปี 1965 จึงขึ้นกับกลยุทธ์เช่นนี้



 


 

ยุทธการวันตรุษญวน (Tet Offensive)
                       ปี 1968 ทุกสิ่งดูจะเลวร้ายลงเรื่อย ๆ สำหรับรัฐบาลของจอห์นสัน ปลายมกราคม ทั้งเวียดนามเหนือและเวียดกงต่างร่วมกันโจมตีตามเมืองใหญ่ ๆของเวียดนามใต้ การโจมตีเป็นที่รู้จักกันในนามว่า ยุทธการวันวันตรุษญวน ถูกวางแผนมาเพื่อ"ทำลายเจตจำนงอันก้าวร้าว" ของรัฐบาลจอห์นสันและบังคับกรุงวอชิงตันให้ขึ้นโต๊ะเจรจา พรรคคอมมิวนิสต์เชื่อว่าคนอเมริกันต่างก็เบื่อสงครามเต็มทนและกรุงฮานอยสามารถทำให้จอห์นสันขายหน้าและต้องขอเจรจาสงบศึก ทว่าคำพยากรณ์เกี่ยวกับยุทธการวันตรุษญวณของพรรคคอมมิวนิสต์ผิดพลาด ทหารคอมมิวนิสต์พบกับการล้มตายอย่างมหาศาลในทางใต้และการสังหารหมู่ผู้ที่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ในเมืองเว้ทำให้ผู้สนับสนุนกรุงฮานอยขุ่นเคืองใจ นอกจากนี้ใครหลายคนคิดว่าแผนของยุทธการวันตรุษญวนนี้มีความเสี่ยงเกินไป สิ่งนี้ทำให้เกิดความหมางใจระหว่างพวกคอมมิวนิสต์ที่อยู่ในเวียดนามเหนือและใต้ จอห์นสันผู้อับอายประกาศว่าจะไม่สมัครลงเลือกตั้งประธานาธิบดีอีก และบอกเป็นนัยๆ ว่าเขาจะขึ้นโต๊ะเจรจากับพวกคอมมิวนิสต์เพื่อยุติสงคราม






 


รัฐบาลสมัยนิกสัน

 

                      จอห์นสันได้เปิดโต๊ะเจรจากับพวกเวียดนามเหนืออย่างลับ ๆในฤดูใบผลิตปี 1968 ที่กรุงปารีส และในไม่ช้าก็ประกาศว่าสหรัฐฯและเวียดนามเหนือกำลังตกลงเพื่อเจรจาการยุติสงครามที่ราคาแสนแพงนี้ ถึงแม้ว่าจะมีความสำเร็จที่กรุงปารีส แต่พรรคเดโมเครตไม่สามารถเอาชนะผู้ท้าชิงจากพรรครีพับลิกันคือริชาร์ด นิกสันซึ่งประกาศว่ามีแผนลับในการยุติสงคราม แผนลับของนิกสันปรากฏว่าเป็นการยืมมาจากแผนของ ลินดอน จอห์นสันเมื่อปีที่แล้ว ประธานาธิบดีคนใหม่ยังคงดำเนินการแผนที่เรียกว่า "การทำให้เป็นเวียดนาม" (Vietnamization) ชื่อน่าเกลียดที่บอกเป็นนัยว่าชาวอเมริกันจะไม่ต่อสู้และตายในป่าทึบของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกต่อไป กลยุทธ์นี้คือการนำทหารอเมริกันกลับบ้านและเพิ่มการโจมตีทางอากาศยังเวียดนามเหนือและพึ่งพิงกับการโจมตีภาคพื้นดินของกองทัพเวียดนามใต้มากขึ้น

                        ในช่วงเวลานี้ สหรัฐฯยังพบกับการขยายสงครามไปยังเพื่อนบ้านคือลาวและกัมพูชา ในขณะที่ทำเนียบขาวพยายามอย่างสิ้นหวังในการทำลายที่พักพิงและเส้นทางลำเลียงเสบียงของพวกคอมมิวนิสต์ (Ho Chi Minh trails) การโจมตีทางอากาศอย่างหนักหน่วงในกัมพูชาปลายเมษายนปี 1970 ทำให้เกิดการประท้วงอย่างรุนแรงในมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วอเมริกา ที่มหาวิทยาลัยเคนท์สเตทในรัฐโอไฮโอ นักศึกษา 4 คนถูกฆ่าโดยกองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิซึ่งถูกระดมพลมารักษาความเรียบร้อยในมหาวิทยาลัยภายหลังจากมีการประท้วงต่อนิกสันหลายวัน ก่อให้เกิดความตกตะลึงไปทั่วประเทศเมื่อนักศึกษาที่มหาวิทยาแจ๊กสันสเต็ทที่รัฐมิสซิสซิปปีก็ถูกยิงจนเสียชีวิตเหมือนกันด้วยเรื่องการเมืองเดียวกันนี้ ผู้เป็นแม่คนหนึ่งถึงกลับร่ำไห้ "พวกเขาฆ่าลูก ๆ ของพวกเราที่เวียดนามและยังตามมาฆ่าที่บ้านอีก"

                         กระนั้นการทำสงครามทางอากาศที่ขยายไปทั่วก็ไม่สามารถสกัดกั้นพวกคอมมิวนิสต์ได้แถมยังทำให้มีการเจรจาที่กรุงปารีสยากเย็นขึ้นไปอีก แผนการทำให้เป็นเวียดนามของนิกสันทำให้เสียงวิพากษ์วิจารณ์ในประเทศเบาลง แต่การพึ่งพิงกับการทิ้งระเบิดที่ดำเนินไปเรื่อย ๆ ของเขาทำให้พลเมืองอเมริกันเดือดดาล ต้นฤดูใบไม้ร่วงปี 1972 ที่ปรึกษาความมั่นแห่งชาติ เฮนรี คิสซิงเจอร์และ เลอ ดุค โธตัวแทนของเวียดนามเหนือก็ได้ร่างแผนสันติภาพสำเร็จ (ต่อมาทั้งคู่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 1973 แต่เลอ ดุค โธปฏิเสธเพราะกล่าวว่าสงครามยังไม่สิ้นสุดจริงๆ - ผู้แปล) กรุงวอชิงตันและกรุงฮานอยก็สันนิฐานว่าเวียดนามใต้จะยอมปฏิบัติตามข้อตกลงที่ถูกเขียนในกรุงปารีสโดยปริยาย แต่ ผู้นำคนใหม่ในเวียดนามใต้คือประธานาบดีเหงียน วัน เทียน และรองประธานาธิบดี เหงียน เกา กีย์ปฏิเสธร่างสันติภาพและต้องการไม่ให้มีการประชุมใด ๆ ทั้งสิ้น พวกเวียดกงเองก็ปฏิเสธร่างในบางส่วน สงครามกลับเข้มข้นขึ้นเมื่อรัฐบาลนิกสันได้สั่งให้มีการทิ้งระเบิดอย่างหนักหน่วงเหนือเป้าหมายในเมืองใหญ่ ๆของเวียดนามเหนือเช่นกรุงฮานอยและนครไฮฟอง การโจมตีซึ่งบัดนี้เป็นที่รู้จักกันว่า "การทิ้งระเบิดช่วงคริสต์มาส" ทำให้นานาชาติประณามและกดดันให้รัฐบาลนิกสันต้องพิจารณากลยุทธ์และเรื่องการเจรจาอีกครั้ง




 


สนธิสัญญาสันติภาพกรุงปารีส (Paris Peace Accords)
                         ในช่วงต้นมกราคม ปี1973 ทำเนียบขาวได้ให้คำมั่นกับรัฐบาลเวียดนามใต้ว่าจะไม่ทอดทิ้งกันถ้าพวกเขายอมลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพ ดังนั้นในวันที่ 23 ร่างสัญญาชุดสุดท้ายก็ปรากฏเป็นรูปเป็นร่าง ส่งผลถึงการสิ้นสุดสงครามอย่างเป็นทางการระหว่างสหรัฐฯและเวียดนามเหนือ นอกจากการหยุดยิงทั่วเวียดนามแล้วสหรัฐฯ ยังต้องถอนกำลังพลรวมไปถึงที่ปรึกษาทางทหารออกจากเวียดนามให้หมดเช่นเดียวกับการรื้อถอนฐานทัพของสหรัฐฯ ในเวียดนามใต้ภายใน 60 วัน เวียดนามเหนือยังตกลงที่จะปล่อยเชลยศึกทั้งอเมริกันและชาติอื่นทั้งหมด กระนั้นสนธิสัญญาสันติภาพก็ไม่ได้ยุติสงครามเสียจริงๆ ในเวียดนาม เมื่อรัฐบาลของเทียและกีย์ยังคงทำสงครามกับพวกคอมมิวนิสต์ต่อไป ช่วงระหว่างมีนาคม ปี 1973 จนมาถึงการล่มสลายของกรุงไซง่อนในวันที่ปลายเดือนเมษายนปี1975 กองทัพได้ต่อสู้อย่างสิ้นหวังเพื่อรักษาเวียดนามใต้ไว้ ฉากสุดท้ายก็มาถึงเมื่อรถถังของกองทัพเวียดนามเหนือได้แล่นอยู่บนถนนหลวงในเวียดนามใต้ ในเช้าวันที่ 30 เมษายนนั้นกองทัพคอมมิวนิสต์ก็เข้ายึดทำเนียบรัฐบาล อันเป็นการจบสิ้นสงครามเวียดนามหรือสงครามอินโดจีนครั้งที่ 2 อย่างแท้จริง